ยุวกาชาด...

  “สภาอุนาโลมแดงแห่งชาติสยาม สภากาชาดสยาม สภากาชาดไทย” ทั้ง 3 ชื่อนี้ เป็นองค์กรการกุศลอาสาสงเคราะห์เดียวกัน ตั้งมาแล้ว 121 ปี มีการพัฒนาชื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัย และมีภารกิจต่างๆ ที่ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ ผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีหน่วยงานในการกำกับดูแลในด้านต่างๆ คือ ด้านทางการแพทย์ ปฐมพยาบาล ด้านการเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติ ด้านบริจาคโลหิต และด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เด็ก และเยาวชนที่ด้อยโอกาส
        สภากาชาดไทย ได้มอบหมายให้สำนักงานยุวกาชาดทำหน้าที่การพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ ด้านผู้สูงอายุเด็กและเยาวชน ตลอดระยะเวลา 91 ปี นับตั้งแต่ได้รับการสถาปนาขึ้น เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2565 กิจการยุวกาชาดได้ดำเนินภารกิจในการปลูกฝังอบรมเยาวชน ให้มีอุดมคติในศานติสุข รู้จักรักษาอนามัยของตนเอง และส่งเสริมอนามัยของผู้อื่น การบำเพ็ญประโยชน์และการสร้างสัมพันธภาพอันดีกับผู้อื่น ตรงตามวัตถุประสงค์ของยุวกาชาด กิจการยุวกาชาดได้มีการพัฒนาจนเจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ มีเยาวชนที่มีจิตอาสาสนใจที่มาเช้าเป็นส่วนหนึ่งของยุวกาชาดเป็นจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อได้รับการปลูกฝังให้มีความรู้ ความสามารถที่เหมาะสมตามกลุ่มอายุ ก็สามารถออกไปปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือสังคมตามเจตนารมณ์ของการก่อตั้งกิจการยุวกาชาดได้เป็นอย่างดี 
        เมื่อแรกก่อตั้งกิจการอนุสภากาชาดนั้น ได้ฝากงานไว้กับกระทรวงศึกษาธิการ ดังข้อความที่เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ได้ทรงมีหนังสือถึงเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนครี เสนาบดีกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการปัจจุบันดังนี้)
           
“ด้วยสภากาชาดสยามมีความปราถนาที่จะตั้งอนุสภากาชาดขึ้นในกรุงสยาม ดำเนินการตามความมุ่งหมายอันปรากฎในบันทึกความเห็นและตามข้อบังคับว่าด้วยอนุสภากาชาดสยาม ซึ่งได้ส่งเจ้าคุณด้วยแล้ว กิจการอันนี้ ย่อมมีความสัมพันธ์อันเป็นหลักสำคัญเกี่ยวเนื่องกับการศึกษาและการลูกเสืออยู่ด้วยเป็นส่วนใหญ่ ถ้ากระทรวงธรรมการได้รับภาระอันนี้ คือ ช่วยอำนวยและดำเนินตามความมุ่งหมายของสภากาชาดสยาม เช่น เดียวกับที่กระทรวงธรรมการได้อำนวยและดำเนินการลูกเสือในปัจจุบันแล้ว การตั้งอนุสภากาชาดนั้น จักเป็นผลสำเร็จและมีความวิวัฒนาการเป็นประโยชน์แก่ชาติและปิตุภูมิไปเป็นแม่นมั่น สภากาชาดสยามจึงใคร่มอบภาระอันนี้แก่กระทรวงธรรมการ ให้ดำริจัดการโดยตอดทุกสิ่งทุกประการ กล่าวคือ เช่น การตั้งงบประมาณสำหรับใช้จ่ายในกองอำนวยการอนุสภา อันเป็นรายจ่ายประจำปี ซึ่งสภากาชาดสยามจะออกให้กระทรวงธรรมการ ส่วนการดูแลอำนวยการอนุสภากาชาดสยามเป็นกองแยกอันหนึ่งของสภากาชาดสยามนั้น สมเด็จองค์สภานายิกาแห่งสภากาชาดสยาม จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้ง จางวางโท พระยาไพศาลศิลปะศาสตร์ กรรมการของสภากาชาดสยาม เป็นผู้อำนวยการอนุสภากาชาดสยามอีกตำแหน่งหนึ่ง”
           
        ยุวกาชาด เกิดขึ้นจาก มติที่ประชุมสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ เมื่อค.ศ. 1919 (พ.ศ. 2462) โดยที่ประชุมได้มีข้อเสนอแนะว่า “สภากาชาดทุกชาติควรจัดตั้งกาชาดสำหรับเด็ก เพื่อฝึกอบรมเยาวชนให้รู้จักการกินดี อยู่ดี รักษาสุขภาพอนามัย มีความเมตตาสงสารเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ไม่ว่าชาติ ศาสนาใดๆ มีศรัทธาเสียสละ และบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคม โดยจัดกิจกรรมและดำเนินการให้สอดคล้องกับระบบการศึกษาของแต่ละประเทศ”  ในเวลาต่อมากาชาดสำหรับเด็กจึงได้ถูกจัดตั้งขึ้นในหลายประเทศ เช่น บัลแกเรีย เชคโกสโลวาเกีย ฮังการี นิวซีแลนด์ โปแลนด์ ยูโกสลาเวีย ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น โรมาเนีย และสวีเดน เป็นต้น      
        สำหรับประเทศไทย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง จอมพลสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ให้ดำรงตำแหน่งอุปนายกสภากาชาดสยาม ในการนี้เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ได้ทรงรับหลักการจากการประชุมเมื่อพ.ศ. 2462  ที่เสนอแนะให้กาชาดประเทศต่างๆ จัดตั้งกาชาดสำหรับเด็กขึ้น
        27 มกราคม  พ.ศ. 2465 กิจการยุวกาชาด จึงได้รับการก่อตั้งขึ้น โดยใช้ชื่อว่า“อนุสภากาชาดสยาม” รับเด็กอายุ 7 - 18 ปี เข้าเป็นสมาชิก ทั้งนี้ เจ้าฟ้าบริพัตร สุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์ วรพินิต ได้ทรงมีพระนิพนธ์เกี่ยวกับอนุสภากาชาดสยาม ดังนี้             
                 
“อนุสภากาชาด” ฝึกสอนเด็กซึ่งเข้าเป็นสมาชิกทั้งชายและหญิง
1. ให้รู้จักรักษาอนามัยของตนเอง คือ รู้วิธีประพฤติให้เป็นทางบำรุงกำลัง ร่างกายให้แข็งแรง สมบูรณ์ หลบหลีก ป้องกัน โรคภัยไข้เจ็บทั้งหลาย
              
2. ได้มุ่งทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นตั้งแต่ผู้อยู่ในครัวเรือนเดียวกัน ตลอดถึงบุคคลภายนอกและ หมู่คณะประชาชน ให้รู้วิธีการว่าสิ่งใดควรทำ และพึงทำอย่างไร เช่น ปรนนิบัติพยาบาล บิดามารดา ช่วยคนเจ็บปัจจุบันทันด่วน ช่วยรักษาความสะอาด และปกป้องสิ่งที่จะเป็นเชื้อให้เกิดโรค
               
3. ให้รู้หน้าที่ของพลเมือง อันจะต้องช่วยกันทำการเพื่อประโยชน์สุขแก่ชุมนุมชน
               
4. ให้รู้คิด รู้จักการในอันจะรวมแรงกันในหมู่คณะ ทำประโยชน์เกื้อกูล บรรเทาทุกข์แก่ผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก อนาถาตั้งแต่ต้น แต่ในพวกเด็กด้วยกันขึ้นไป ซึ่งย่อมจะเป็นกำลังทำได้ยิ่งกว่าจะทำแต่ลำพังบุคคล
               
5. เพาะเป็นนิสัยให้เป็นผู้มีจิตใจกอปรด้วยเมตตากรุณาแก่เพื่อนมนุษย์ กตัญญู รู้สนองคุณท่านผู้มีบุญคุณ มีบิดา มารดา เป็นต้น
       
        หลังจากได้มีการก่อตั้งกิจการอนุสภากาชาดสยามขึ้นในเดือนมกราคมแล้วนั้น ต่อมาวันที่ 29  มีนาคม  พ.ศ. 2465 ได้มีการเปิดหมู่อนุสภากาชาดสยามเป็นแห่งแรกขึ้น ณ โรงเรียนราชินีโดยหม่อมเจ้าหญิงพิจิตรจิราภา เทวกุล พระอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนราชินี ทรงดำรงตำแหน่งนายกหมู่คนแรก และได้ทรงนิพนธ์บทเรียนเป็นบทละครเกี่ยวกับการรักษาอนามัย การละเล่นเบ็ดเตล็ดซึ่งแฝงคติธรรม ให้สมาชิกได้แสดงในพิธีเข้าประจำหมู่และในงานกาชาด เช่น บทละครเรื่อง ยายกับหลาน ใครฆ่าเชื้อโรค ต้นไม้กาชาด นายพรานกับนกเขา กินนรรำ เป็นต้น
        นอกจากนี้ในวันรุ่งขึ้น 30 มีนาคม 2465 หมู่ยุวกาชาดแห่งที่ 2 ได้เปิดดำเนินการขึ้น ณ โรงเรียนเบญจมราชาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเปิดทำการสอนในหลักสูตรฝึกหัดครู จึงนับได้ว่าโรงเรียนเบญจมราชาลัยเป็นหมู่ยุวกาชาดแห่งแรกในโรงเรียนสังกัดสามัญศึกษา ทั้งนี้หมู่ยุวกาชาดทั้งสองแห่งได้ร่วมกันจัดให้มีพิธีเข้าประจำหมู่เป็นครั้งแรก ของการดำเนินงานอนุสภากาชาดสยาม
        การจัดตั้งหมู่อนุสภากาชาดขึ้นในครั้งนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นแบบอย่างแก่โรงเรียนอื่นๆ โดยการจัดหลักสูตรและกิจกรรม เน้นการปลูกฝังเรื่องความเสียสละ การรู้จักบำเพ็ญประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ รู้จักการรักษาอนามัยของตนเองและส่วนรวม และในปี 2465 นั้นได้เริ่มมีการจัดพิมพ์วารสารยุวกาชาดขึ้น โดยเมื่อเริ่มแรกนั้นใช้ชื่อว่า “อนุสภากาชาดอุปกรณ์” ต่อมาเปลี่ยนเป็น “หนังสือพิมพ์อนุกาชาด” “วารสารอนุกาชาด” และ “วารสารยุวกาชาด” ตั้งแต่ปี 2521 จนถึงปัจจุบัน

        ในวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2515 สภากาชาดไทยได้อนุมัติให้จัดกิจกรรม อนุกาชาดนอกโรงเรียน แก่เยาวชนอายุระหว่าง 13 - 25 ปี ที่ไม่ได้ศึกษาอยู่ในสถานศึกษา แต่เนื่องจากขาดงบประมาณ จึงยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ
        พ.ศ. 2521 เปลี่ยนชื่อ “อนุกาชาด” เป็น “ยุวกาชาด” และขยาย  อายุสมาชิกจาก 7 - 18 ปี เป็น 7 -25 ปี เพราะต้องการให้นักเรียน นักศึกษา ที่เรียนอยู่ในระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ทั้งในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษา รวมถึงเยาวชนที่ด้อยโอกาสทางการศึกษาได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก
        พ.ศ. 2522 กองยุวกาชาด ได้เริ่มดำเนินงานยุวกาชาดนอกโรงเรียน ซึ่งชะลอการดำเนินการมาตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2515 โดยมุ่งสนับสนุนให้เยาวชนที่ไม่มีโอกาสศึกษาในสถานศึกษา ได้มีโอกาสฝึกหลักการและอุดมการณ์ของกาชาด ฝึกฝนวิชาชีพและวิชาการต่างๆ ที่จะเป็นต่อการดำรงชีวิต เพื่อที่จะได้นำความรู้ไปพัฒนาตนเอง ครอบครัว ชุมชนและประเทศชาติต่อไป ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย  ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าผูกคอให้แก่ยุวกาชาดนอกโรงเรียน การดำเนินการนี้ส่งผลให้ยุวกาชาดนอกโรงเรียนขยายอย่างกว้างขวางออกไปสู่ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา และกรมราชทัณฑ์ ปรับเปลี่ยนตำแหน่ง หัวหน้ากองยุวกาชาด เป็นผู้อำนวยการกองยุวกาชาด
        พ.ศ. 2537 กรมราชทัณฑ์ เห็นคุณค่าของกิจกรรมยุวกาชาด ที่สามารถส่งผลต่อการกล่อมเกลาจิตใจของเยาวชนในเรือนจำและทัณฑสถาน ซึ่งเป็นเยาวชนผู้ด้อยโอกาส ให้เขาเหล่านั้นเห็นคุณค่าของตนเองที่มีต่อสังคม มองเห็นความหวังของชีวิตที่จะก้าวพ้นพันธนาการไปสู่อิสระด้วยความมั่นคงทางจิตใจ และกลับสู่สังคมได้อย่างเชื่อมั่นว่า ตนเองจะสามารถเป็นคนดีของสังคมได้เฉกเช่นเยาวชนอื่นๆ  จึงเกิดการอบรมยุวกาชาดนอกโรงเรียนในทัณฑสถานขึ้นเป็นครั้งแรก ณ ทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิงธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี และจากการดำเนินการอบรมในครั้งนั้น กรมราชทัณฑ์ได้ขยายผลไปยังทัณฑสถานหญิงอีก 6 แห่งทั่วประเทศ จนกระทั่งในพ.ศ. 2542 กรมราชทัณฑ์จึงได้ประกาศเป็นนโยบายให้นำกิจกรรมยุวกาชาดนอกโรงเรียนไปจัดให้ กับเยาวชนชาย - หญิงในเรือนจำ และทัณฑสถานต่างๆ  ทั่วประเทศจนกระทั่งปัจจุบัน
       พ.ศ. 2539 กองยุวกาชาด ได้จัดให้มีโครงการอาสายุวกาชาดอุดมศึกษาขึ้น โดยมุ่งหวังให้ระดมพลังหนุ่มสาวในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อสังคมในรูปแบบ “อาสาสมัคร” ของ กองยุวกาชาด
       พ.ศ. 2540 เปลี่ยนชื่อ กองยุวกาชาด สภากาชาดไทย เป็น สำนักงานยุวกาชาด สภากาชาดไทย
       พ.ศ. 2542 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีอุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ทรงพระราชทานปฎิญญาของสภากาชาดไทย ในการประชุมสภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ ครั้งที่ 27 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม - 6 พฤศจิกายน 2542 ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีสาระสำคัญตอนหนึ่งเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของยุวกาชาด คือ “จะเผยแพร่กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศสู่สถาบันการศึกษา ทั้งของพลเรือนและทหาร” และ “จะเริ่มโครงการในระดับรากหญ้า โดยร่วมกับยุวกาชาดในการเผชิญกับปัญหาสำคัญๆ ที่คุกคามเยาวชนในปัจจุบัน โดยเฉพาะปัญหายาเสพติดและสุขภาพเจริญพันธุ์” ทำให้มีการปรับหลักสูตรยุวกาชาดเพื่อให้สอดคล้องกับปฎิญญาดังกล่าว และยึดถือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเรียนการสอนของยุวกาชาดจนถึงปัจจุบัน
      พ.ศ. 2546 รัฐบาลได้ปฏิรูประบบราชการ มีการยุบรวมหน่วยงานเพื่อให้เกิดความชัดเจนในภารกิจ หน้าที่ ในการนี้ กรมพลศึกษาซึ่งดูแลกิจการยุวกาชาดมาตั้งแต่เริ่มแรก ได้ถูกรวมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และให้งานลูกเสือ ยุวกาชาด และสารวัตรนักเรียน ไปอยู่ในสังกัดของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และยกระดับให้เป็น สำนักการลูกเสือ ยุวกาชาด และกิจการนักเรียน พร้อมกับย้ายที่ทำการจากสนามศุภชลาศัย ไปยังกระทรวงศึกษาธิการ  ส่วนสำนักงานยุวกาชาด สภากาชาดไทย ได้ย้ายกลับสู่สภากาชาดไทยเมื่อเดือนกันยายน 2546 มีที่ทำการ ณ ตึกจิรกิติ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2546 รองศาสตราจารย์ นายแพทย์พินิจ กุลละวณิชย์ ได้รับการแต่งตั้งเป็น ผู้อำนวยการสำนักงานยุวกาชาด สภากาชาดไทย นับเป็นผู้อำนวยการคนแรกของสำนักงานยุวกาชาดที่เป็นเจ้าหน้าที่สังกัดสภากาชาดไทย
           
        ดังนั้นจะเห็นได้ว่านับแต่พ.ศ.2546 เป็นต้นมา กิจการยุวกาชาดอยู่ในความรับผิดชอบของ 2 หน่วยงานคือ สำนักงานยุวกาชาด สภากาชาดไทย และ สำนักการลูกเสือ ยุวกาชาด และกิจการนักเรียน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยทั้ง 2 หน่วยงาน ยังคงประสานการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด พ.ศ. 2550 สภากาชาดไทยจึงออกข้อบังคับสภากาชาดไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2550 หมวดที่ 9 ยุวกาชาด มีสาระสำคัญดังนี้
วัตถุประสงค์ของยุวกาชาด : เพื่อฝึกอบรมให้เยาวชนชายและหญิง
1.  มีอุดมคติในศานติสุข มีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.  มีความรู้ ความชำนาญในการรักษาอนามัยของตนเองและของผู้อื่น ตลอดจนการพัฒนาตนเองทางร่างกาย จิตใจ คุณธรรม และธำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติ
3.  มีความรู้ ความเข้าใจในหลักการและอุดมการณ์กาชาด มีคุณธรรม จริยธรรม และมีจิตใจเมตตา กรุณาต่อเพื่อนมนุษย์
4.  บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ชุมชน สังคม และประเทศชาติ
5.  มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
6.  มีสัมพันธภาพและมิตรภาพที่ดีต่อบุคคลทั่วไป
       “กิจการยุวกาชาดอยู่ในความดูแลและกำกับทั่วไปของสภากาชาดไทย โดยมีกระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานที่ให้ความร่วมมืออย่าง  ใกล้ชิด และให้การสนับสนุนโดยการจัดหน่วยงานรองรับ”
       
เยาวชนที่เป็นยุวกาชาด แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้        1.  สมาชิกยุวกาชาด ได้แก่ เยาวชนอายุระหว่าง 7 ปี ถึง 18 ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษา หรือเยาวชนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย และเลือกเรียนยุวกาชาดตามหลักสูตรการเรียนการสอนยุวกาชาดของกระทรวง ศึกษาธิการ
        2.  อาสายุวกาชาด ได้แก่ เยาวชนอายุระหว่าง 15 ปี ถึง 25 ปี หรือเยาวชนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายถึงระดับอุดมศึกษาหรือ เทียบเท่า ทั้งในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษา ซึ่งมีความสนใจสมัครเป็นอาสายุวกาชาด ได้ผ่านการอบรมหลักสูตรพื้นฐานยุวกาชาด และสังกัดชมรมอาสายุวกาชาด

ที่มา :http://thaircy.redcross.or.th
หนังสือ วารสารยุวกาชาดฉบับพิเศษ ปีที่ 61 เล่ม 5 ฉบับที่ 362 มกราคม –กุมภาพันธ์  2555 

ความคิดเห็น